Knowledge

จิตวิทยาการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

โพสต์เมื่อ 17 มิถุนายน 2558

          การดำเนินธุรกิจเป็นงานที่จะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสีย กำไรขาดทุน รวมทั้งการแข่งขันของธุรกิจในประเภทที่ใกล้เคียงกัน เช่น การตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การบริการ เป็นต้น และปัญหาในการดำเนินธุรกิจที่หลายๆ องค์กรต้องประสบ มักหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารคนในองค์กรซึ่งจัดเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าขององค์กร ซึ่งจัดเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบริหาร โดยจะทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถทำงานได้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุดขององค์กรได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่และภารกิจที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารที่จะต้องเรียนรู้ศาสตร์ในการบริหารบุคคล ที่เน้นเรื่องการศึกษาพฤติกรรมบุคคล กลุ่มและองค์การ ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมในองค์การ เพื่ออธิบาย ทำนายและควบคุมปรากฏการณ์ของการบริหารที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ความเข้าใจแนวคิดเรื่องแรงจูงใจของบุคคล จะช่วยให้ผู้บริหารรู้ถึงความต้องการและแรงจูงใจของผู้ใต้บังคับบัญชาและพร้อมที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดังกล่าว ทำงานอย่างที่เรียกว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข” ที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในการบริหารงาน

         แรงจูงใจ (Motive) จะสภาวะที่เป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่แรงจูงใจนั้นต้องการ

         ในขณะที่การจูงใจ (Motivation) เป็นกระบวนการของการนำปัจจัยต่างๆ ที่เป็นแรงจูงใจมา กระตุ้นหรือผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมไปอย่างมีทิศทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือเงื่อนไขที่ผู้จูงใจต้องการ ซึ่งปัจจัยที่นำมากระตุ้นนั้น อาจจะเป็นสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่มาเร้า ล่อ จูงใจ และผลักดันให้บุคลเกิดความต้องการในเบื้องต้น และความต้องการนี้จะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดเป็นภาวะของแรงจูงใจ แรงจูงใจจะอยู่ในสภาวะไม่หยุดนิ่ง (Dynamic) และจะเป็นกระบวนการ (Process) ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อสร้างให้สภาวะของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล (Homeostasis) เพื่อให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามที่คาดหวังไว้  ซึ่งการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีของแรงจูงใจนี้ จะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมตนเอง เพื่อให้เกิดการควบคุมที่เหมาะสม หรือช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่น เพื่อให้สามารถจูงใจผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน

          ในการทำงานหากขาดพลัง  หรือแรงจูงใจในการทำงานแล้ว  อาจมีผลทำให้การทำงานขาดชีวิตชีวาและน่าเบื่อ เราจะทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตการทำงานในแต่ละวันของเรามีความสดชื่นและตื่นตัวอยู่เสมอ  ดังนั้นเราควรทราบถึงสาเหตุหรือที่มาของแรงจูงใจ เพื่อที่จะได้หาวิธีการในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นต่อไป  โดยกระบวนการเกิดแรงจูงใจนั้น เกิดจากความต้องการ (Needs) โดยจะเกิดควบคู่ไปกับ

          แรงขับ (Drive) เสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อบุคคลมีความต้องการแล้วก็จะเกิดแรงขับขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดแรงผลักดัน ในการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ หรือ อาจกล่าวได้ว่าแรงขับเป็นสภาพของความตึงเครียด ที่เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการ เป็นสภาพของความเครียดทางด้านร่างกาย และเป็นตัวผลักดันให้ร่างกายแสดงพฤติกรรมตอบสนอง (Response) เพื่อขจัดความเครียดให้สิ้นไป หรืจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย (Goal) ซึ่งเมื่อถึงเป้าหมายและได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว ความต้องการต่างๆ ก็จะลดลง

แรงจูงใจในการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานแสดงพฤติกรรมต่างๆ ในการทำงาน หากมีแรงจูงใจในทางบวกก็จะแสดงพฤติกรรมทำงานออกมาในเชิงบวก แต่ในทางกลับกันหากขาดแรงจูงใจในการทำงาน ก็จะแสดงพฤติกรรมการทำงานในเชิงลบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแรงจูงใจในการทำงานมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นผู้บริหารหรือหัวหน้างานจำเป็นต้องรู้และเข้าใจกลยุทธ์ในการจูงใจ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานของตน.

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตร

จิตวิทยาการบริหารและการจูงใจทีมงาน

Psychology for Management & Motivating Techniques

โดย ดร.ปรัชญา ปิยะมโนธรรม