Knowledge

บทบาทที่แตกต่างกันของ HR ในองค์กร

โพสต์เมื่อ 1 มีนาคม 2559

          ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ มีแนวคิดทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลใหม่ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของHR กับการเป็น Business Partner หรือเป็น Change Agent หรือ เป็น Business Driver ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นหรือเรียกอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของการบริหารทรัพยากรบุคคล จากบทบาทเดิมๆ มาเป็นบทบาทใหม่ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะผลักดันธุรกิจให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากความเชื่อที่ว่า คนเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง คำถามที่สงสัยก็คือ จะมีสักกี่องค์กรที่ HR จะสามารถเปลี่ยนบทบาทเป็นได้ดั่งที่เขาว่ามา

  • องค์กรขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่องค์กรขนาดนี้ มักจะมีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่วางไว้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นระบบการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาคน การบริหารค่าตอบแทน และสวัสดิการ การบริหารความก้าวหน้าของพนักงาน ฯลฯ และมีฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลทำหน้าที่ในการวางแผนและดูแลเรื่องของการ บริหารคนในองค์กรอย่างเต็มที่ องค์กรลักษณะนี้ HR มักจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการบริหารคนของ องค์กร ให้สอดคล้องและสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์กรให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ HR ถือเป็น Business Partner และ Change Agent จริงๆ

 

  • องค์กรขนาดกลาง องค์กรขนาดนี้ฝ่ายบุคคล ก็มักจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารคนขององค์กรอยู่บ้าง เพียงแต่ยังคงมีข้อจำกัดบ้างในบางเรื่อง ผู้บริหารอาจจะให้อำนาจการตัดสินใจในบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงาน การพัฒนาพนักงาน การบริหารแรงงานสัมพันธ์ ฯลฯ ส่วนเรื่องของการบริหารค่าตอบแทนนั้น ยังคงอยู่ในมือของผู้บริหารระดับสูง หรือไม่ก็เจ้าของธุรกิจมากกว่า องค์กรกลุ่มนี้ HR เป็นแค่เพียงผู้บริหารนโยบายตามที่ผู้บริหารต้องการเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง หรือมีส่วนในการที่จะเข้าไปกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ขององค์กรมากนัก
  • องค์กรขนาดเล็ก องค์กรขนาดนี้มักจะไม่ค่อยมีฝ่ายบุคคลเท่าไหร่นัก และส่วนมาก HR ขององค์กรขนาดเล็ก ถ้ามี ก็มักจะเป็นงานในเชิง Admin เป็นส่วนใหญ่ เจ้าของธุรกิจไม่ค่อยปล่อยอำนาจให้ทำอะไรมากนัก ก็ยิ่งห่างไกลกับคำว่า Business Partner กันไปใหญ่

บทบาทหน้าที่ HR จะมีมากมีน้อย ส่วนหนึ่งอยู่ที่เจ้าของธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมากกว่า 

  • ผู้บริหารที่ไม่เชื่อเรื่องของการบริหารคน ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจที่ไม่เชื่อเรื่องของการบริหารคน ก็มักจะไม่ค่อยใส่ใจเรื่องนี้มากนัก บางองค์กรไม่มีฝ่ายบุคคลด้วยซ้ำไป หรือไม่ก็เอาฝ่ายบุคคลไปฝากไว้กับฝ่ายบัญชีบ้าง ฝ่ายจัดซื้อบ้าง และก็ทำงานเน้นไปในเรื่องของงานธุรการประจำวันเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า ที่จะเน้นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลแบบมืออาชีพ องค์กรแบบนี้ ไม่เคยคิดที่จะส่งพนักงานไปฝึกอบรมที่ไหนเลย ไม่เคยคิดที่จะวิเคราะห์และบริหารความต้องการของพนักงานเลย ไม่เคยคิดที่จะวางแผนพัฒนาสายอาชีพของพนักงานเลย ปล่อยให้ทำงานกันไปเรื่อยๆ ไม่พอแค่นั้นนะครับ ยังคาดหวังผลงานของพนักงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ดูแล้วมันแย้งๆ กันนะครับ ก็คือ อยากให้พนักงานทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่ค่อยใส่ใจ ดูแล และพัฒนาพนักงาน แบบนี้พนักงานจะดีขึ้นได้อย่างไร
  • ผู้บริหารที่เชื่อเรื่องการบริหารคน ผู้ บริหารหรือเจ้าของธุรกิจที่มีความเชื่อว่าคนคือทรัพยากรสำคัญที่สุดในการ สร้างความก้าวหน้าให้กับธุรกิจ ก็มักจะมีการกำหนดนโยบาย และวางแผนเรื่องของการบริหารคนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เรื่องการสรรหาคัดเลือก จนกระทั่งถึงพนักงานเกษียณอายุ และมักจะให้ความสำคัญในกับการพัฒนาพนักงาน เพื่อที่จะทำให้พนักงานมีความรู้ทักษะที่สูงขึ้น พร้อมที่จะรับงานที่ยากขึ้น มากขึ้นในอนาคตได้

คนที่ทำงานด้าน HR ในยุคใหม่นี้ก็คงต้องมีทักษะในการนำเสนอ และโน้มน้าวให้นายเชื่อ และยอมที่จะให้มีระบบในการบริหารคน มิฉะนั้นแล้ว การบริหารคนก็คงจะไม่เกิดขึ้นในองค์กรเลย

บางองค์กร HR ยังบ่นให้ผมฟังเลยครับว่า ทำอะไรก็ไม่ได้ นายไม่เคยเห็นด้วยเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ

  • การหาคนเข้ามาทำงาน เราพยายามจะสร้างเครื่องมือในการสรรหาและคัดเลือก แต่นายก็ไม่เอา บอกว่ายุ่งยากบ้าง แพงบ้าง แต่การเลือกคนทำไมต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะแยะไปหมด
  • เรื่องการพัฒนาคน ก็พยายามจะวางระบบการพัฒนาคน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็บอกว่า เปลืองเงิน ไม่ต้องพัฒนาหรอก ทำงานดีกว่า อบรมไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เปลืองทั้งเงิน และเปลืองทั้งเวลาทำงาน
  • ระบบการประเมินผลงาน พอจะเอาระบบที่ดีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ KPI หรือ Competency นายก็บอกว่ายุ่งยาก และทำให้พนักงานคนอื่นกลัวกันไปหมด บางครั้งก็โดนด่า หาว่า เป็นคนทำให้บริษัทเกิดความขัดแย้งขึ้นมา

  • ระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือน จะ ช่วยนายเพื่อจะให้ระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมีความเป็นธรรมมากขึ้น และสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานฝีมือดีได้ดีขึ้น นายก็บอกว่าไม่เอา มันยุ่งยากอีกเช่นกัน นายขอดูเองดีกว่า เรื่องเงินๆ ทองๆ แบบนี้ของเป็นคนพิจารณาด้วยตนเองดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้ความรู้สึกส่วนตัวของนายนี่แหละ ถามจริงๆ ว่านายจะรู้และเห็นผลงานของพนักงานทุกคนอย่างชัดเจนที่จะให้รางวัลได้จริงๆ หรือ แม้ว่าจะเจอนายแบบที่กล่าวมาบ้าง แต่ในปัจจุบันนี้ การบริหารทรัพยากรบุคคลก็เป็นศาสตร์ที่หลายองค์กรเริ่มให้การยอมรับกันมาก ขึ้นแล้วนะครับ บรรดานายๆ ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการบริหารคน ก็เริ่มเปลี่ยนความเชื่อ เริ่มที่จะมองเห็นความสำคัญของการบริหารและการพัฒนาคน

ทรัพยากรบุคคลคือการลงทุนในระยะยาว ส่วนใหญ่จะเห็นผลก็ผ่านไปแล้วประมาณ 5 ปีขึ้นไป แต่ผลที่ได้จากการลงทุนมันคุ้มเกินคุ้มครับ เพราะทรัพยากรบุคคลนั้นจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรของเราต่อไปในอนาคต

ก็คงจะมีแต่ผู้นำที่แท้จริงเท่า นั้นที่จะมีวิสัยทัศน์มองเห็นว่าอนาคตของบริษัทของเรานั้นขึ้นอยู่กับ ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในองค์กรจริงๆ

 

 

ที่มา : ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร: Think People Consulting / มกราคม 28, 2013 

https://prakal.wordpress.com