Knowledge

5 กลยุทธ์แบบ 'ภาวะวิสัย' สู่การเป็นสุดยอดนักบริหารและนักวางกลยุทธ์

โพสต์เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2561
แนวคิด ‘ภาวะวิสัย’

     ในบทความชื่อ “What Strategists Can Learn from Sartre” จากวารสาร Strategy + Business นั้น James Ogilvy ให้ความหมายของ “ภาวะวิสัย” ว่าเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่เน้นให้ความสำคัญกับทางเลือกของคน (individual choice) ดังนั้น จึงเหมาะกับโลกยุคนี้ ที่ดูเหมือนจะมีทางเลือกจำนวนมาก และไม่มีแนวทางให้ยึดถือว่าควรจะเลือกทางไหนดี มีคำกล่าวที่นิยมพูดกันในหมู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ Silicon Valley ว่า “ไม่มีใครต้องให้นักอนาคตศาสตร์มาทำนายอนาคตให้เราฟัง เพราะที่นี่ เราเป็นผู้สร้างอนาคต”


     คำกล่าวนี้ เป็นภาวะวิสัยเต็มๆ ความคิดแบบนี้ ไม่ได้มุ่งไปที่ว่า “อนาคตกำลังไล่ล่าคุณ” หรือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะเป็นไปในอัตราเร่ง อย่างที่ว่าไว้ในหนังสือ Future Shock ของ Alvin Toffler หรือ As the Future Catches You ของ ฮวน เอ็นริเก้ ที่ แต่มุ่งไปในประเด็นที่ว่า “ใคร” เป็นผู้ชี้ทางแห่งอนาคต หรืออนาคตอยู่ใน “น้ำมือ” ของ “ใคร” ต่างหาก ระหว่าง “พระเจ้า”, “พระพรหม” (พรหมลิขิต), หรือ “น้ำมือมนุษย์เอง” คำตอบของภาวะวิสัยนั้น ไม่บอกก็รู้ว่า ให้น้ำหนักกับตัวมนุษย์ ในฐานะผู้สร้างอนาคตของตัวเอง “You become the results of the decisions you make.” แน่นอนว่า มนุษย์ย่อมเกิดมาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “ยีน” “พันธุกรรม” หรือ “พื้นฐานครอบครัว” แต่การที่แต่ละคนเลือกที่จะทำอะไรกับพื้นฐานเหล่านั้น หรือจะ “ต่อยอด” จากพื้นฐานเหล่านั้นให้พัฒนาขึ้นหรือด้อยลงอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับเจตจำนงอันเป็นอิสระของแต่ละคน

 

      การวางกลยุทธ์และบริหารกิจการในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ จึงต้องอาศัยแนวคิดแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ“นวัตกรรม” และ “ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคที่มีอย่างหลากหลายและไม่สิ้นสุด ด้วยสมมติฐานดังว่า เขาจึงเห็นว่า ธุรกิจสมัยใหม่ จำต้องอาศัย “กลยุทธ์แบบภาวะวิสัย” (Existential Strategy) จึงจะสำเร็จ

กลยุทธ์แบบภาวะวิสัย

      การ “สร้างความหมาย” สำหรับองค์กร จะสร้างผลได้ว่าการเลือกนั้นจะดีกว่าการที่องค์กรจะทำด้วยวิธีเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว? นักปรัชญาด้านภาวะวิสัยได้สร้างแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบกลยุทธ์พอสมควรคือ การรู้จักจบ การไปสู่ความตาย การเอาใจใส่ แรงเหวี่ยง และความเป็นตนเอง โดยมีรายละเอียดแต่ละหัวข้อ ดังนี้

1. การรู้จักจบ 

    คุณเป็นทุกสิ่งให้ทุกคนไม่ได้ หากคุณไม่รู้จักปฏิเสธความเป็นไปได้บางอย่าง คุณก็ไม่ได้วางกลยุทธ์ที่เหมาะสมการรู้จักจบทำให้นักกลยุทธ์แบบภาวะวิสัยเข้าใจถึงการเลือกที่องค์กรต้องทำ คุณอาจเลือกต้นทุนต่ำสุดหรือคุณภาพสูงสุด แต่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกทั้งสองอย่างพร้อมกัน คุณจึงต้อง ตัดสินใจ  ซึ่งหากคุณไม่รู้จักพูดว่า ไม่ คุณก็ไม่รู้จักวางกลยุทธ์ 
    IBM เลือกกลยุทธ์ที่จะออกจากธุรกิจสำหรับผู้บริโภคและเน้นไปที่บริการกับภาคธุรกิจ ขณะที่ ฮิวเล็ต-แพ็คการ์ด เลือกจะตัดบริษัท Agilent Technologies เพราะวิทยาการด้านการประเมินและทดสอบไม่ใช่ความสามารถหลักของบริษัท เมื่อนักเทคโอเวอร์ เข้าซื้อกิจการของบริษัท พวกเขามักจะแบ่งแยกธุรกิจออกแล้วขายบางส่วนทิ้งไป เหตุผลก็คือว่าจากการประเมินพบว่า แต่ละชิ้นส่วนนั้นมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อแยกออกไป แทนที่จะรวมเป็นชิ้นเดียวกัน  

2. การมุ่งสู่ความตาย 

     ไม่มีใครใหญ่เกินกว่าจะล้ม จะตาย หรือล้มละลาย แต่หากคุณคิดตามแบบนักภาวะวิสัยเรื่องการมุ่งสู่ความตาย แต่ละวันย่อมมีค่าและมีความเร่งรีบ องค์การการศึกษาแห่งชาติ (Nation Education Association: NEA) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ถูกมองว่าเป็นองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และไม่มีวันตาย ได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นโดยสถานการณ์จำลองที่เรียกว่า “บนหนึ่งชั้น” สถานการณ์นี้เป็นเรื่องที่อาคารของ NEA ในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ถูกขายให้บริษัท Sylvan Learning Systems ซึ่งให้ NEA เช่าสำนักงานเล็กๆ ที่อยู่ “บนหนึ่งชั้น” จากประตูทางเข้า หลังจากดูสถานการณ์แล้ว ประธานของ NEA ได้พูดใน New York Time ว่า “หากเราไม่เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ เราจะออกไปจากธุรกิจใน 10 ปี” ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเมื่อสองสามปีก่อน สมัยที่เขายังไม่ได้มองถึงความตาย เมื่อประธานคนต่อมาคือบ๊อบ เชส ได้ใช้“ระบบสหภาพแบบใหม่” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับค่าจ้างและสภาพการจ้างน้อยลง และให้ความสำคัญกับการช่วยสมาชิกในการทำงานกับห้องเรียนเพิ่มขึ้น การให้คนมองความตายไม่ใช่เรื่องง่าย การเข้าสู่การล้มละลายไม่ใช่เรื่องสนุก ซีร็อกซ์ต้องถูกกระตุ้นโดยการสร้างสถานการณ์ในโลกที่เครื่องถ่ายเอกสารมีสแกนเนอร์และพรินเตอร์ ขณะที่ธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสารหายไปจากโลก แต่มันก็ไม่น่ากลัวขนาดที่จะทำให้เกิดการล้มละลายจริง

3. การเอาใจใส่ 

     ควรประเมินผลประโยชน์มากกว่าแค่ ROI หรือผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หากคุณไม่รู้จุดยืนของตน คุณย่อมจะล้มได้ในทุกกรณี  แน่นอนว่าเราใช้ความคิด รู้จักคำนวณ แต่เราทำในลักษณะที่ต่างไปจากที่คอมพิวเตอร์ทำคอมพิวเตอร์ไม่สนใจอะไร มันไม่เอาใจใส่ แต่สิ่งที่ดีก็คือมันไม่ลำเอียง  ไม่ถูกชักจูงโดยแรงปรารถนา  ขณะที่ คนนั้น มีความลำเอียง มีความปรารถนา และสิ่งที่ดีก็คือ เพราะความปรารถนาและความเอาใจใส่นี้เอง ที่ให้ความหมายกับชีวิต  

     หลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ที่มีอายุยาวนาน ต้องรู้จักกระตุ้นตนเอง ไม่ใช่แค่เอาใจใส่ในการผลิตสินค้าใหม่สู่ตลาดให้เร็วขึ้น บางครั้งองค์กรต้องลอกคราบตนเอง (reinventing)  ต้องรู้จักสลัดตัวเองออกจากอดีต  ครั้งหนึ่งโมโตโรล่าเคยผลิตวิทยุติดรถยนต์ เมื่อโรเบิร์ต กาลวิน ต้องการหันมาผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ ผู้บริหารส่วนใหญ่คิดว่าเขาเสียสติไปแล้ว แต่โรเบิร์ต ซึ่งเป็นลูกชายของพอล กาลวิน ผู้ก่อตั้งโมโตโรล่า ต้องการรักษามรดกของพ่อเขา และต่อมาเขาก็ลอกคราบโมโตโรล่า  มาเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และวิทยุติดตามตัว เมื่อคริส ซึ่งเป็นลูกชายของโรเบิร์ต ได้เกษียณตนเองจากตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทก็กำลังจะลอกคราบอีกครั้ง 

     ในโลกที่เปลี่ยนจากภาวะที่ง่ายและเชื่องช้า เป็นโลกที่ซับซ้อนและรวดเร็ว เราต้องรู้จักลอกคราบตนเอง มิฉะนั้นเราก็ต้องตาย

4. แรงเหวี่ยง 

    คุณมีอดีต คุณมีประสบการณ์และความสามารถในการแข่งขัน รู้จักมัน และใช้มัน ทุกองค์กรย่อมมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา  IBM ไม่ได้ขายอาหารหมา  Sara Lee ไม่ได้ขายคอมพิวเตอร์  อาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Geworfenheit หรือแรงเหวี่ยง เราต้องมีจุดยืนซักอย่างบนโลกนี้ เราได้รับสิ่งที่ทำให้เป็นตัวเราจากผู้ปกครอง จากวัฒนธรรม หรือจากชุมชน แม้กระทั่งผู้ประกอบการยังพบว่า บริษัทของตนในปีที่สองจะ “ถูกเหวี่ยง” ไปในทิศทางหนึ่ง  แรงเหวี่ยงนี้ก็มีคุณประโยชน์ของมันเอง แต่สำหรับทุกองค์กรแล้ว การเดินจากอดีตสู่อนาคตเป็นเส้นตรงถือได้ว่าเป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่แย่
     แรงเหวี่ยงนี้ไม่ใช่ข้อจำกัด แต่การจะสร้างผลในแง่บวกต้องใช้กลยุทธ์แบบภาวะวิสัย เพราะการจำลองสถานการณ์ที่เป็นบวกย่อมจะช่วยเสริมการจำลองสถานการณ์ที่เป็นลบได้ 

5. ความเป็นตนเอง 

     ความเป็นตนเองคือวิถีในการซื่อสัตย์ต่อตนเอง แต่แนวคิดนี้ค่อนข้างจะกำกวม เนื่องจากสำหรับนักภาวะวิสัย การซื่อสัตย์ต่อตนเองไม่ใช่การซื่อสัตย์ต่อแก่นสารของตนเอง และไม่ใช่การแค่ทำงานของตน ความเป็นตนเองต้องรู้จักตนเองในอดีต และเปิดรับโอกาสในอนาคต ไม่ใช่แค่ความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงโอกาสจำนวนมาก ความเป็นตนเองหมายถึงซื่อสัตย์ต่อแรงเหวี่ยงและอิสรภาพของตน มันคือการเลือกระหว่างความเป็นไปได้ และรับผิดชอบต่อหนทางที่เลือก

       ตอนที่ Ogilvy เป็นที่ปรึกษาให้โมโตโรล่า ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Enterprises group) หน้าที่ของพวกเขาคือสร้างแนวคิดธุรกิจใหม่ที่ใกล้เคียงกับความสามารถในการแข่งขันหลักขององค์กรที่เป็นไปได้ แต่ต้องให้เป็นสิ่งที่อยู่นอกธุรกิจที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่ การรู้จักทำเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเป็นตนเอง หากคุณพยายามจะสนองแก่นสารของตนเอง ซึ่งก็คือความสามารถในการแข่งขันหลักมากเกินไป คุณก็ย่อมเสียอิสรภาพ แต่หากคุณมีอิสระในการเลือกทุกสิ่ง คือการลืมแรงเหวี่ยง คุณก็จะกระจัดกระจายไม่มีทิศทาง กลุ่มธุรกิจใหม่จึงได้มองว่าความสามารถในการแข่งขันในวิทยาการด้านสารสนเทศจะนำไปใช้ในธุรกิจใหม่คือ การสร้าง จัดเก็บ และสงวนพลังงานไฟฟ้า

     เป้าหมายของบทความนี้ได้เปลี่ยนจากปรัชญาของภาวะวิสัย เป็นการประยุกต์ใช้สำหรับการวางแผนกลยุทธ์องค์กร ในบทสรุปจะมองเหตุผลที่เกิดจากความมั่นคงของกลยุทธ์แบบภาวะวิสัย และการประยุกต์ใช้ การสร้างกลยุทธ์แบบภาวะวิสัยทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น เมื่อปรัชญาด้านภาวะวิสัยได้ถูกแปลให้เป็นกลยุทธ์องค์กรที่ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง มันก็ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือ และพลังในการผลักดันให้เราในฐานะบุคคลรู้จักที่จะใช้ชีวิตบนความเป็นตนเองและอิสรภาพยิ่งขึ้น

 

ที่มา : http://www.mbamagazine.net/index.php/must-read-3/240-m-m-s-v15-240