5 เหตุผลที่ทำให้ IDP ไม่ประสบความสำเร็จ
โพสต์เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560
แผนพัฒนารายบุคคล หรือที่เราเรียกสั้นๆกันว่า IDP นั้นย่อมาจาก Individual Development Plan ซึ่งก็คือแนวทางที่จะช่วยให้บุคลากรในหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จบรรลุตามเป้าหมายในสายอาชีพของตัวเอง ด้วยการพัฒนาจุดอ่อน (Weakness) และเสริมจุดแข็ง (Strength) ของบุคลากรในหน่วยงานนั้นๆ สรุปง่ายๆก็คือ แนวทางในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และศักยภาพในการทำงานนั่นเองค่ะ มีองค์กรจำนวนไม่น้อยเลยนะคะที่มีแผน IDP ที่ดี แต่เมื่อนำมาใช้ ยังไง้ ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ จะเป็นเพราะเหตุผลเหล่านี้หรือเปล่ามาดูกันเลยค่ะ |
1. หัวหน้าไม่รู้จะสื่อสารกับลูกน้องอย่างไร HR เคยลอง Survey ถามหัวหน้างานไหมคะ ว่าใน 365 วัน มีโอกาสคุยกับลูกน้องกี่วันเรื่อง “แผนการพัฒนา” เช่น อยากพัฒนาอะไรหรืออีก 3-5 ปี ลูกน้องวาง Career ของตัวเองไว้อย่างไร องค์กรไหนหัวหน้าตอบอย่างมั่นใจว่า เดือนละครั้ง หรือ 3 เดือนครั้ง ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่เท่าที่สำรวจในหลายๆองค์กรมักจะได้คำตอบว่าปีละ 1-2 ครั้งตอนประเมินผล หรือ ก็ไม่เคยพูดเรื่องการพัฒนาเลย พอตั้งใจจะคุยเรื่องการพัฒนากับลูกน้องอย่างจริงจังก็รู้สึกเขินไม่รู้จะให้คำปรึกษาหรือ Coach อย่างไร สุดท้ายก็กรอกแบบฟอร์มตามที่ HR ส่งให้และส่งกลับถือว่าเป็นอันจบพิธี IDP จึงไม่ใช่แค่การกรอกแบบฟอร์ม แต่ HR จะต้องติดเครื่องมือให้กับหัวหน้างานเพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือกุนซือในการพัฒนาทีม |
2. พนักงานไม่เคยรู้เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ของตัวเอง การทำแผน IDP คงไม่ได้ออกแบบแค่แผนพัฒนาปีต่อปี เพราะบางเรื่องต้องให้เวลาในการพัฒนามากกว่า 1 ปี ถ้าองค์กรไม่มีเส้นทางในอาชีพหรือที่เรียกว่า Career Path ให้เดิน หรือไม่มีโปรแกรมการพัฒนาที่ตอบโจทย์ในเส้นทางที่วางไว้ (Career Development) ก็จะไม่สามารถสื่อสารให้พนักงานเข้าใจถึงประโยชน์ของการพัฒนาอย่างแท้จริง IDP ก็จะขาดแรงจูงใจ (Motivation) และตอบโจทย์แค่งานปัจจุบัน ขาดความเชื่อมโยงกับเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path)ของพนักงานในระยะยาว ถ้าพนักงานไม่รู้หรือมองไม่เห็นความก้าวหน้าในองค์กรที่ทำงานไม่ใช่แค่ขาดแรงจูงใจในการทำงานหรือการพัฒนาตัวเองแค่นั้น แต่ส่งผลถึงความผูกพันในงาน (Work Engagement) เช่นเดียวกัน |
3. แผนการพัฒนาไม่ตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กร การออกแบบ IDP ที่ชอบวิเคราะห์ถึงจุดอ่อน จุดแข็งของพนักงาน แต่ลืมตอบโจทย์กับเป้าหมายขององค์กร พัฒนาไปแล้วไม่แน่ใจว่าสามารถเพิ่มผลงาน (Performance) ได้จริงหรือไม่ เมื่อจะวิเคราห์จุดแข็งจึงควรตั้งคำถามว่า จุดแข็งของพนักงานคนนั้น เป็นจุดแข็งที่สามารถเพิ่ม Productivity ให้หน่วยงานไหม หรือจุดอ่อนของพนักงานส่งผลกระทบกับเป้าหมายในการทำงานหรือไม่ การวิเคราะห์ในลักษณะนี้จะทำให้หัวหน้ารู้ว่า ถ้ามีงบประมาณอยู่ 20,000 บาทต่อพนักงาน 1 คนจะบริหารงบประมาณให้คุ้มค่าอย่างไร เพราะเลือกใช้งบประมาณ 20% พัฒนาจุดแข็งที่ แต่เพิ่ม Productivity 80% ก็ถือว่ามี Return on investment (ROI) ที่คุ้มค่ามากทีเดียว |
4. เวลาพัฒนาอัดแน่น เวลางานก็ไม่ลด เวลาวางแผน IDP เคยรักพี่เสียดายน้องไหมคะ มี Budget เท่าไหร่ก็อยากใช้ทั้งหมด ดูหัวข้อการพัฒนาทุกอย่างสำคัญ อยากจัดหนักจัดเต็มด้วยความหวังดีอยากให้พนักงานพัฒนาได้เต็มที่ แต่ตารางงานนี่สิมันกลับไม่ลดลง เวลาไปอบรมก็ต้องกลับมาปั่นงานโต้รุ่งหรือเสียวันเสาร์อาทิตย์ทั้งวันให้กับการทำงาน บางทีอบรมอยู่ยังต้องออกไปรับโทรศัพท์ ส่งเมล์ กลับมาอีกทีก็พลาดเนื้อหาที่สำคัญไปแล้ว เมื่อวางแผน IDP นอกจากการสร้าง Commitment เรื่องเป้าหมายในการพัฒนาแล้ว หัวหน้าก็ต้องมี Commitment เรื่องเวลาในการพัฒนาและวางแผนกำลังคน (Workforce Planning) เพื่อให้พนักงานไม่กังวลว่าจะต้องทำงานไปด้วย แต่จะมีคนอื่นๆในทีมดูแลงานแทนในช่วงเวลาที่ไม่อยู่ |
5. มีแผน IDP แต่ไม่มีแผนการติดตามผล (Follow up plan) หลังจากที่ส่งพนักงานไปพัฒนา หัวหน้าหลายๆคนใช้วิธีให้ลูกน้องมาเล่าให้ฟังว่าไปอบรมแล้วได้อะไรบ้าง แต่ไม่มีแผนการติดตามผลที่ชัดเจน เหมือนกับส่งนักกีฬาไปออกไปฝึกวิ่งทุกวันแต่ไม่มีสนามให้แข่งจริง ถ้าในการออกแบบ IDP หัวหน้าได้มีการบอกวัตถุประสงค์การพัฒนาว่า ในแต่ละหัวข้อมีความเชื่อมโยงกับงานหรือเส้นทางอาชีพ (Career Path) ของพนักงาน ก็จะทำให้ IDP มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หลังการเข้าโปรแกรมฝึกอบรมเรื่อง Project Management แล้วจะได้ฝึกการเป็น Project Manager1 โครงการสั้นๆเพื่อประเมินผลการพัฒนา หรือ เมื่อเรียนแล้วจะต้องเป็นวิทยากรสอนสมาชิกคนอื่นๆในหน่วยงาน พฤติกรรมการเรียนรู้ของพนักงานจะแตกต่างกับการเป็นนักเรียนใน Classroom Training อย่างแน่นอน |
การออกแบบ IDP การสื่อสารให้พนักงานและหัวหน้าเห็นเป้าหมายเพื่อสร้าง Commitment ในการพัฒนาร่วมกัน เลยเป็นเรื่องเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าขาดไปก็จะทำให้ IDP สะดุดและไม่ประสบความสำเร็จ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตาม Content HR อื่นๆได้ที่ www.sbdc.co.th และ facebook fanpage : Strategic Center |