Knowledge

อัพเดททิศทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

โพสต์เมื่อ 17 มิถุนายน 2558

          ในปี 2557 ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยยังติดลบหรืออาจบวกเล็กน้อย เนื่องจากการส่งออกยังมีปัญหาช่วงต้นปีและเริ่มมาฟื้นตัวช่วงไตรมาสที่ 4 แต่ในปี 2558 คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัว 4-5% แต่จะยังไม่โดดเด่น ซึ่งกลับกลายเป็น ”ภาครัฐ” ที่จะมีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย  ซึ่งจะดีหรือไม่นั้น เป็นเรื่องวัดฝีมือรัฐบาล คือการบริหารงบประมาณ เพราะประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายในปี 2557 ยังช้ากว่าที่กำหนดไว้ เหมือนเป็นเวลาของการลอกท่อ ทั้งที่คงค้างของการเบิกจ่ายปีนี้ และของปี 2558 ซึ่งทั้งหมดรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท จะมีผลให้ปี 2558 เงินไหลเข้าสู่ระบบและหมุนเวียน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% กระตุ้นในภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้น

          อีกทั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนประเทศไทยจาก Mono Centric ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางรวมทุกอย่าง มาสู่ Poly Centric ที่มีการกระจายความเจริญไปต่างจังหวัด เช่น เมืองชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มุกดาหาร ในอนาคตจะยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ซึ่งคนไทยสามารถมองหาโอกาสได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

เศรษฐกิจโลก

ประเทศจีนมีการขยายตัวที่ลดลงเหลือประมาณ 5% ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงเพราะปัจจุบันไทยมีรายได้หลักจากจีน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น มีการทำ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใส่เงินไปในระบบ 720,000ล้านเยน คาดการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะขยายตัวประมาณ 0.7-0.8% แต่หาก นายชินโซ อาเบะ ชนะเลือกตั้ง การขึ้น Sales Tax จะถูกเลื่อนระยะเวลาไปอีก 15 เดือน เป็นการซื้อเวลาให้ญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่ม 1% ในส่วนของกลุ่มประเทศในยุโรป มีการขยายตัวเศรษฐกิจประมาณ 0.4-0.5%

รวมถึงการลดลงของราคาน้ำมันโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ประเทศต่างๆที่มีรายได้จากการขายน้ำมันเป็นหลัก จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวชะลอตัว

การปรับตัวเพื่อรับมือ

การปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ ที่คนไทยจะต้องนำมาใช้หลักๆ  5  ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. ควรเปลี่ยนระบบความคิด เนื่องจากดิจิตอลเข้ามาอิทธิพลอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการทำให้ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง ส่งผลให้ประเทศเล็กๆจำเป็นต้องรวมตัวกัน ทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจต่างๆขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ฉะนั้นนักบริหารควรมองในระยะยาว 5-10 ปี มองข้ามช็อต คิดวางแผนว่าจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเพื่อปรับตัวและเตรียมรับมือ
  2. มองโอกาสการลงทุน การขยายธุรกิจ สินค้า การบริการ และเงินทุน ให้กว้างกว่าเดิม เพราะอนาคตอีกไม่ไกลประเทศไทยกำลังเชื่อมโยงกับ 9 ประเทศ ดังนั้นธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับ SME ต้องเปลี่ยนวิธีการมองหาลูกค้าเป้าหมายที่ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศเท่านั้น
  3. ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของประชาคมเศรษฐกิจนี้สร้าง GMS Economic Corridors ที่มีการเชื่อมโยง 6 ประเทศคือ ไทย จีน กัมพูชา เวียดนาม ลาว และพม่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะสามารถเดินทางด้วยรถไฟจากประเทศมาเลเซียไปยุโรปได้
  4. ทำให้สิ่งเราชำนาญ มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจหลัก และเปลี่ยนมุมมองทางการตลาดโดยต้องมีการปรับให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ยังต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมให้ดีเสียก่อนจะไปบุกตลาดต่างประเทศ
  5. การ Empowerment ทำให้ลูกค้ามีอำนาจการต่อรองสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย

สรุปประเด็นสิ่งที่ควรปรับตัวเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจปีนี้ คือ ผู้ประกอบการควรพัฒนา Mindset ผลิตสินค้าและบริการที่เรามีความชำนาญอยู่แล้ว โดยประยุกต์สิ่งที่เรามีให้เข้ากับโลก หรือที่เรียกว่า “Fusion” ที่จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน