การบริหารจัดการความเครียด Stress Management
โพสต์เมื่อ 17 มิถุนายน 2558ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการทำงานหรือการดำเนินชีวิต ทำให้เราต้องวางแผนและเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อยู่เสมอ นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันในด้านต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อนด้วย เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่อาจวางแผนรับมือและปรับตัวกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีพอ ส่งผลให้เกิดปัญหา และเกิดความเครียดตามมาทั้งที่รู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม แม้ว่าหลายคนจะรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับความเครียด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับความเครียดนั้นอย่างไร และบางครั้งอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด จะดีกว่าไหม...หากเราสามารถบริหารจัดการความเครียดได้ โดยที่บางครั้งเราเองยังไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่ามีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว!
ความเครียด (stress) เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกด้านลบที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เช่น การมองภาพ การได้ยิน ระดับเสียง คำพูดเฉพาะบางอย่างที่ส่งผลต่อความรู้สึก ความหนาแน่นของผู้คน หรือแม้กระทั่งช่วงเวลา สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้แต่ละคนเกิดความเครียดได้ในลักษณะที่ต่างกันออกไป
ตามทฤษฎี Rational Emotive Behavior Therapy ของ Albert Ellis กล่าวไว้ว่า มนุษย์เรามีพลังจิตและหากสมมติให้คน 1 คนมีพลังจิต 10 หน่วย เราจะแบ่งพลังจิตไปใช้ใน 3 ส่วน ได้แก่ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกและสรีระการกระทำ ซึ่งในสภาวะปกติที่ปราศจากความเครียดเราจะแบ่งพลังจิตไปใช้ในสัดส่วน 4:3:3 ดังภาพจาก 3 ส่วนนี้ ส่วนที่ทำให้เกิดความเครียด คือ ความคิด เพราะเมื่อมีสภาวะบางอย่างมากระตุ้นให้เกิดอารมณ์หรือความรู้สึกด้านลบกับเรา ไม่ว่าจะผ่านทางสรีระการกระทำหรือส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกโดยตรง อารมณ์ความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นนี้จะดับไป แต่สิ่งที่ค้างอยู่คือความคิดที่เกิดขึ้นหลังจากอารมณ์ความรู้สึกนั้น ยิ่งเราจดจ่ออยู่กับความคิดนี้มากเท่าใด เราก็จะยิ่งเครียดมากเท่านั้น และพลังจิตก็จะยิ่งถูกดึงมาใช้กับส่วนของความคิดมากขึ้นด้วย สัดส่วนของพลังจิตที่นำไปใช้กับความคิด อารมณ์ความรู้สึกและสรีระการกระทำก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม |
โดยสัดส่วนของพลังจิตที่ถูกนำไปใช้กับความคิดจะมีสัดส่วนมากขึ้น แต่ส่วนที่นำไปใช้กับอารมณ์ความรู้สึกและสรีระการกระทำจะลดลงในสัดส่วนที่ไม่แน่นอนตายตัว เช่น 8 : 1 : 1 หรือ 9 : 0 : 1 เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราเครียดในเรื่องใดและสาเหตุมาจากปัจจัยใด อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติแล้ว 3 ส่วนนี้จะถูกทำให้สมดุลโดยอัตโนมัติอยู่แล้วเพียงแต่เราไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง ตัวอย่างเช่น เวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ เรามักจะเห็นคนนั่งสั่นขาหรือนั่งไขว่ห้าง นั่นเป็นการเพิ่มการใช้พลังจิตไปที่สรีระการกระทำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้สัดส่วนของพลังจิตที่ถูกใช้ไปกับความคิดลดลง ส่งผลให้ความเครียดของเราลดลงด้วย |
|
พลังอารมณ์ สามารถระบายออกได้ 3 ทาง ได้แก่ ระบายออกทางความรู้สึก ระบายออกทางน้ำเสียง และการรักษาสมดุลโครงสร้างของจิต ซึ่งการรักษาสมดุลโครงสร้างของจิตถือเป็นการจัดการอารมณ์ในทางที่สร้างสรรค์
พลังสรีระกาย สามารถผ่อนคลายได้ 3 ทาง คือ การออกกริยาท่าทาง การออกพลังปราณ และการผ่อนคลายสรีระกาย ซึ่งจะช่วยให้คลายเครียดผ่านการทำกายบริหารอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้
ในการบริหารจัดการความเครียดจึงควรบริหารให้ครบทั้ง 3 ส่วน ทั้งความคิด อารมณ์ความรู้สึกและสรีระการกระทำ โดยต้องเริ่มจากการจัดการกับอารมณ์ให้ได้ก่อน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอารมณ์ความรู้สึกด้านลบเป็นตัวกำหนดความเครียด การเท่าทันอารมณ์โดยรู้ว่า ณ ขณะเวลานี้เรากำลังมีอารมณ์อย่างไร การรู้เท่าทันจะทำให้เราปรับอารมณ์ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีกว่าการกำจัดอารมณ์เสียอีก
เมื่อสามารถบริหารจัดการกับความเครียดของเราได้ สิ่งที่ตามมาคือการมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิต คือ ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีเจตคติที่ดีในการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต รวมถึงการดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติอีกด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตร
การบริหารจัดการความเครียด
Stress Management
โดย ดร.ปรัชญา ปิยะมโนธรรม