Knowledge

สร้างตัวตนให้กลายเป็นแบรนด์

โพสต์เมื่อ 24 กันยายน 2558

Personal Branding คือ การสร้างตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ เป็นจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวแทนของสินค้าหรือบริการ โดยการทำแบรนด์ลักษณะนี้จะเป็นการเน้นไปที่ตัวบุคคลหนึ่งๆ หรือกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะให้กลายเป็นจุดขาย โดยสร้างบุคลิกหรือภาพลักษณ์ให้โดดเด่นเพื่อนำไปต่อยอดในด้านการตลาด ซึ่งหากทำแบรนด์ในลักษณะนี้ ลูกค้าก็จะรู้จักแบรนด์เราพร้อมๆ กับตัวบุคคลที่เป็นแบรนด์ไปพร้อมๆ กัน ตัวอย่างเช่นหากพูดถึงอิชิตัน เราก็ต้องนึกถึงคุณตัน ส่วนถ้าพูดถึงเถ้าแก่น้อย ก็นึกถึงคุณต๊อบ เป็นต้น 

ทั้งนี้หากเราอยากสร้างตัวเองให้เป็นแบรนด์ หรือขั้นกว่านั้นคือสร้างตัวเราเองให้กลายเป็นแกนกลางของธุรกิจ เราก็สามารถทำเองได้ง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทโฆษณาใหญ่ยักษ์ เพียงแต่เราต้องทำวางแผนกันสักเล็กน้อยก่อนจะลงมือสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเอง จากนั้นก็เริ่มกันเลยกับ 9 วิธีดังต่อไปนี้

 

  • เริ่มจากตัวเอง

เริ่มแรกเลยเราต้องสำรวจตัวเอง ทั้งด้านความสนใจว่าเราสนใจสิ่งใดเป็นพิเศษ เพราะหากไม่ได้สนใจในสิ่งนั้น เราก็จะมีความกระตือรือร้นค่อนข้างน้อย และหากเจออุปสรรคก็อาจท้อถอยได้ง่าย จากนั้นก็สำรวจความสามารถของตนเองด้วยเช่นกัน ว่าเรามีความสามารถอะไรที่โดดเด่นเป็นพิเศษ สิ่งใดที่เราทำได้ดี จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายจากสิ่งที่สนใจและถนัด เช่น ฉันอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น หรืออยากเป็นกูรูด้านนี้ เช่น เรามีความรู้ด้านการเงินการลงทุนอยู่แล้ว ก็สามารถต่อยอดจากสิ่งนี้ได้ การเป็นกูรูด้านการเงินก็ไม่ไกลเกินฝัน

  • ถามคนรอบตัว

หลังจากสำรวจตัวเองแล้วว่าเราเก่งกาจด้านนี้ก็อย่างเพิ่งมั่นใจเกินร้อย เราควรถามคนรอบข้างสักเล็กน้อยว่าสิ่งที่เราคิดเราเข้าใจเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถามคนรอบข้างว่าพวกเขามองเราเป็นอย่างไร ว่าความสามารถเราโดดเด่นอย่างที่เราคิดหรือไม่ หากใช่...เราเก่งมากแค่ไหน แต่หากไม่...แล้วเราเก่งด้านใดกันแน่ ให้พวกเขาช่วยคุณสำรวจความสามารถ จากนั้นลองคิดวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเป้าหมายเรา หรือหาทางแก้ไขจุดด้อยเหล่านั้น เช่น หากเราคิดว่าเก่งด้านการลงทุน แต่คนรอบตัวยังมองว่าเรายังเก่งไม่มากพอที่จะแนะนำคนอื่น เราก็ควรหาความรู้เพิ่มเติม หาทางแก้ไขจุดอ่อนนั้น

  • วาดภาพรวมของสิ่งของที่จะสื่อออกไป

หลังจากได้เห็นตัวเองทั้งจากสายตาตัวเองและสายตาคนอื่นแล้ว เราก็ต้องวาดภาพสิ่งที่ต้องทำต่อไป เริ่มจากจะสร้างสินค้าบริการหรือเนื้อหาอะไร เช่น ต้องการเป็นกูรูด้านการลงทุน เขียนบทความด้านการลงทุน จากนั้นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อว่าจะได้วางกรอบการเขียนบทความ  การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านั้น และที่สำคัญคือการสร้างเอกลักษณ์และตัวตนเราที่จะแสดงออกไปยังกลุ่มคนเหล่านี้โดยอิงลักษณะนิสัย ความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน มีไฟ มีความฝัน และกล้าเสี่ยง การเข้าถึงคนกลุ่มนี้ก็อาจต้องสร้างจุดเด่นให้เป็นคนคิดต่าง กล้าเสี่ยง กล้าลุย เป็นเหมือนเพื่อนใหม่ที่จะสร้างฝันไปด้วยกัน ไม่ใช่เป็นคุณลุงคอยพร่ำสอนคอยดุด่า

  • สร้างภาพลักษณ์

หลังจากวาดภาพรวมของสิ่งที่จะสื่อออกไปแล้ว เราก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ต่างๆ ที่จะสื่อออกไปด้วยเช่นกัน ทั้งการสร้างสัญลักษณ์ โลโก้ หรือสโลแกน สร้างสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำและนึกถึงเราทันทีเมื่อเห็นสิ่งนั้น เช่น สร้างสัญลักษณ์ โลโก สโลแกน สิ่งที่เมื่อใครเห็นก็ต้องนึกถึงตัวเรา เช่น โลโก้กราฟหุ้นพุ่งขึ้นสูงแทนภาพลักษณ์ของกูรูด้านการลงทุน โดยต้องออกแบบใหม่เด่น แตกต่าง และสื่อถึงภาพรวมที่เราได้กำหนดไว้แต่แรกคือการลงทุนแบบคนรุ่นใหม่และขอเน้นว่าโลโก้หรือสัญลักษณ์เหล่านี้เด่นจริง จำง่ายจริง แบบเห็นเมื่อไหร่ก็ต้องนึกถึงเราเท่านั้น ไม่ใช่นึกถึงคนอื่นอย่างเด็ดขาด

  • วางระบบการทำงานของแต่ละส่วน

เราควรแบ่งงานออกเป็นสัดส่วนและกำหนดกรอบการทำงานให้ชัด เพื่อลดความวุ่นวายในการทำงานและเพิ่มการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมาก เช่น สร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่บทความด้านการลงทุน เพราะสามารถจัดหมวดหมู่บทความได้ดี การจัดหน้าของเนื้อหาและรูปประกอบบทความทำได้ดีกว่า ง่ายกว่า และชัดเจนกว่าการใช้โซเชียลมีเดียซึ่งเหมาะการใช้กระจายบทความได้ดีกว่า ดังนั้นโซเชียลมีเดียอย่าง facebook, twitter และ google+ ซึ่งหลายๆ คนใช้งานกันประจำจึงเหมาะกับการเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ เป็นพื้นที่แสดงตัวตน หรืออาจจะเป็นช่องทางติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฝากคำถาม หรือแจ้งข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน เพราะเข้าถึงง่าย อัพเดตไว และเข้าถึงคนหมู่มากได้รวดเร็วภายในไม่กี่วินาที

  • สร้างเครือข่ายของเราเอง

เครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เพราะเราไม่ได้เก่งที่สุด และเพราะเราไม่สามารถรู้จักทุกคนได้ด้วยพลังของเรา การสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ ร่วมสายงานจะช่วยเสริมความรู้ของเราให้เพิ่มมากขึ้น เข้าถึงแหล่งข้อมูลและกลุ่มคนได้มากขึ้น นอกจากนี้หากติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญข้ามสายอาชีพก็จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ เปิดโลกใหม่ ทัศนคติใหม่ให้เรากับอีกด้วย เมื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เครือข่ายก็จะขยายมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นด้วย ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเราไปสู่กลุ่มคนกลุ่มใหม่อีกด้วย เช่น เน้นให้ความรู้ด้านการลงทุนในหุ้น แต่ก็ข้ามไปสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้กับการลงทุนด้วยเงินฝากหรือการเริ่มธุรกิจ SMEs จนกลายเป็นเครือข่ายการลงทุนให้เงินงอกเงยหรือร่วมงานสัมมนาต่างๆ เพื่อพบปะผู้คนที่มีความสนใจเดียวกัน เพื่อผู้คุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ไม่แน่ว่าการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ กันครั้งนี้อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งยิ่งใหญ่ในอนาคตก็ได้

  • สร้างคอนเทนต์ของตัวเองให้โดดเด่น

เพราะคอนเทนต์ที่ดีจะดึงดูความสนใจผู้คนได้มากขึ้น ดังนั้นจงสร้างให้เจ๋งสุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นก็กระจายคอนเทนต์คุณภาพเยี่ยมทางโซเชียลมีเดียหรือช่องทางอื่นๆ ที่คัดสรรไว้แล้ว เมื่อผู้รับสารเห็นคอนเทนต์เหล่านั้นแล้วและชอบใจก็จะเกิดกระแสไวรัลหรือการบอกต่อๆ ขึ้น มีการแชร์ต่อในวางกว้าง ดังนั้นลงทุนและทุ่มเทให้มากกับการสร้างคอนเทนต์ให้เยี่ยมที่สุด เช่น เขียนบทความด้านการลงทุน คอนเทนต์ก็คือบทความ หรือหากอยากเป็นสุดยอดนักทำอาหาร อาหารคือสิ่งสำคัญ การเลือกวัตถุดิบ การปรุง และการจัดหน้าตาอาหารก็คือสิ่งสำคัญ

  • ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

เราควรมีการปฏิสัมพันธ์พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับทั้งผู้ชมผู้อ่าน เพื่อนร่วมสายอาชีพ หรือแม้กระทั่งเพื่อนต่างสายอาชีพ ตอบคำถามหรือคอมเมนต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย อย่าเพิกเฉยต่อคำถาม คำชม และคำติต่างๆ การมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาจะช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ให้พวกเขา ทั้งยังเป็นข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงคอนเทนต์ของเราด้วยเช่นกัน และอย่าลืมแลกเปลี่ยนคอนเทนต์กับผู้อื่นด้วยทั้งสายงานเดียวกันและต่างสายงาน เพราะจะเป็นประชาสัมพันธ์ทั้งตัวคอนเทนต์และตัวเราอีกด้วย ทั้งนี้ก็อย่าลืมใส่เครดิตของเราลงไปในคอนเทนต์ด้วย อย่างเช่นใส่โลโก้ของเราลงไป เพื่อว่าผู้รับสารจะได้ทราบว่าเป็นงานของเราและสามารถติดตามมายังเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของเราได้ถูกต้อง

  • สังเกตและวิเคราะห์

หลังจากปล่อยคอนเทนต์สู่สายตากลุ่มเป้าหมายแล้ว เราก็ต้องเฝ้าดูกระแสตอบรับว่าคอนเทนต์ถูกใจพวกเขาหรือไม่ รับฟังความคิดเห็นและคำวิจารณ์ทั้งจากกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนร่วมสายงานเดียวกัน หรือคู่แข่ง เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงคอนเทนต์ของเราให้ดียิ่งขึ้น และอย่าลืมใช้เครื่องมือวัดผลตอบรับต่างๆ จากโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อจะได้วางแนวทางและกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการกระจายคอนเทนต์ออกไป

ทั้งนี้การเริ่มต้นสร้างตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ก็ควรจะเริ่มที่ความรู้ความสามารถที่มีอยู่และความสนใจของตัวเราเอง เพื่อว่าจะได้มีแรงกระตุ้นให้เรามุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และยังช่วยเพิ่มความอดทนหากต้องเผชิญงานหนักและอุปสรรค์ใหญ่ๆ

  

ที่มา : http://incquity.com/articles/make-yourself-brand-0